วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ระเบิดเวลาเรื่องเขาพระวิหาร
โดย : วารสาร เมืองโบราณ MuangBoran Journal ศรีศักร วัลลิโภดม


ทุกวันนี้ ตามเขตชายแดน โดยเฉพาะระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาบนเทือกเขาพนมดงเร็ก มีกับระเบิดที่ยังไม่ได้กู้อยู่อีกมาก พร้อมกับระเบิดเวลา ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระเบิดเวลานี้ ตั้งขึ้นโดยมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมที่เข้ามาเป็นใหญ่ในอินโดจีน ที่นอกจากทำลายประเพณีการแบ่งดินแดนระหว่างแคว้นหรือระหว่างรัฐอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน มาเป็นการขีดเส้นเขตแดน (border) อย่างชนิดแยกสีอะไรเป็นสีของใครแล้ว ยังสร้างความรู้ชุดใหม่ทางการเมืองการปกครองมาสนับสนุนอธิบายความชอบธรรมของการมีเขตแดน และการมีความเป็นชาติที่แตกต่างไปจากเดิมด้วย นั่นคือ แต่ก่อนๆ บรรดาบ้านเมืองที่อยู่ร่วมกันในภูมิภาคพื้นแผ่นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ แม้ว่าจะรู้ความแตกต่างระหว่างกันในด้านแว่นแคว้น ขอบเขตอำนาจทางการเมือง และความแตกต่างระหว่างผู้คนทางชาติพันธุ์ก็ตาม ก็หาได้เป็นเรื่องใหญ่โตชนิดคอขาดบาดตายในเรื่องเขตแดนและความแตกต่างของชนชาติไม่ โดยเฉพาะบริเวณชายเขตและชายขอบ ที่มักกำหนดแบ่งดินแดนด้วยสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ (symbol) ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเครื่องหมาย (sign) ที่เป็นรูปธรรม เช่น เส้นแบ่งเขตแดน (border) การแบ่งดินแดนที่เป็นการปกครองของแว่นแคว้นหรือรัฐ หรืออาณาจักร (kingdom) ที่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรมนั้น เห็นได้จากการกำหนดสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง อาจเป็นภูเขา ลักษณะภูมิประเทศที่มีความโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ ป่า โค้งน้ำ ทุ่งกว้าง ที่ล้วนมีชื่อเฉพาะให้เป็นที่รับรู้ของผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา แต่ที่สำคัญ ตำแหน่งที่กำหนดให้เป็นสัญลักษณ์นั้นมักสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ อันเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเกรงกลัว และทำการสักการะ สิ่งเหล่านี้เห็นได้จากการแยกดินแดนกัมพูชาที่เรียกว่าเขมรต่ำ ออกจากที่ราบสูงโคราช อันรู้จักกันในนามเขมรสูง คำว่า “เขมร” ในที่นี้หมายถึงชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์กันทางภาษา เช่นที่เรียกว่ามอญ เขมร และมาเลย์ เป็นต้น หาใช่เรื่องของคนที่อยู่ในดินแดนการปกครองของรัฐหรืออาณาจักรไม่ เทือกเขาพนมดงเร็กที่แยกดินแดนที่ราบสูงออกจากที่ราบต่ำนั้น นับเป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติมาแต่โบราณ ซึ่งผู้คนที่ผ่านขึ้นลงตามช่องเขาได้กำหนดสัญลักษณ์การแบ่งเขตด้วยตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่คนไทยคนลาวเรียกว่า “ผีต้นน้ำ” โดยจะมีการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนได้ประกอบพิธีกรรมและสักการะ หลังการเปลี่ยนผ่านจากดินแดนหนึ่งไปยังอีกดินแดนหนึ่ง เหตุนี้ บนเทือกเขานี้จึงมีตำแหน่งที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนแต่ละยุคแต่ละสมัยสืบเนื่องกันเรื่อยมา เช่น ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก็กำหนดจากบริเวณเพิงผา หน้าผา หน้าถ้ำ ที่ผู้คนแลเห็นโดดเด่น และมีพื้นที่พอให้มาชุมนุมทำพิธีกรรมร่วมกันได้ เหตุนี้จึงมีการเขียนภาพสัญลักษณ์ที่เป็นมงคล เช่น ภาพมือแดง ภาพคน สัตว์ และพืช ให้เห็นเป็นปรากฏการณ์ แต่นักวิชาการส่วนใหญ่กลับให้ความสำคัญแก่ภาพเหล่านี้ในฐานะที่เป็นงานศิลปะ โดยเน้นศึกษาไปในทางที่เกี่ยวกับศิลปะเป็นสำคัญ พอมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ เช่น สมัยทวารวดี ลพบุรี และสมัยต่อๆ มา ก็มีการสร้างพระเจดีย์ รอยพระพุทธบาท ศาลเทพเจ้า และรูปเคารพขึ้น อย่างเช่นบนเทือกเขาพนมดงเร็ก ปรากฏมีปราสาทตามช่องเขาตอนผ่านสันปันน้ำหลายแห่ง เช่น ปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทไบแบก และจารึกของกษัตริย์จิตรเสนที่บริเวณต้นน้ำลำปลายมาศและนางรอง เป็นต้น บรรดาอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่ปัจจุบันเรียกว่า “ผีต้นน้ำ” นี้แหละ ที่คนโบราณเชื่อว่าเป็นเจ้าของที่ดินและธรรมชาติทุกสิ่งทุกแห่งจากต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ และเป็นผู้ดูแลชีวิตของผู้คนที่อยู่ตามลุ่มน้ำนั้นๆ เขาพระวิหารคือผาเขาที่ยื่นล้ำเข้าไปเหนือพื้นที่ราบต่ำ แลเห็นโดดเด่นจนคนโบราณเชื่อว่าเป็นที่สถิตของผีต้นน้ำ ผู้คนสมัยต่อมาเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้าผู้ดูแลผู้คนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำในเขตที่ราบสูงโคราช ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเป็นเมือง ที่กษัตริย์กัมพูชา เช่น พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และสุริยวรมันที่ ๒ ต้องทรงกระทำการสักการะ จึงมีการสร้างปราสาทมาอย่างต่อเนื่อง การสร้างปราสาทหรือศาสนสถานใดๆ ก็ดี หาได้เป็นการแสดงเจตนารมณ์เพื่อแสดงอำนาจทางการเมืองเหนือผู้คนในดินแดนนั้นๆ ไม่ หากเป็นการสยบและให้เกียรติแก่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ และการสร้างมิตรไมตรีกับผู้คนของดินแดนนั้นด้วย อาจนับเป็นกริยาบุญของบุคคลที่ปรารถนาเป็นจักรพรรดิราช อันเป็นเรื่องเฉพาะตนของพระมหากษัตริย์องค์นั้นๆ มากกว่า เพราะแท้จริงแล้ว บ้านเมืองและรัฐโบราณในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าเขมร ไทย ลาว พม่า เวียดนาม บรรดารัฐใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นหาได้มีรัฐรวมศูนย์ (centralized state) ที่มีโครงสร้างเป็นราชอาณาจักรแบบจักรภพอังกฤษ หรือประเทศใหญ่ๆ ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ของยุโรปไม่ หากเป็นระบบมณฑล (mandala) ตามประเพณีการปกครองของอินเดีย คือเป็นเครือข่ายของรัฐใหญ่น้อยที่ให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งจากรัฐใดรัฐหนึ่ง ที่เป็นที่เคารพและยกย่องของกษัตริย์ทั้งหลายให้เป็นประมุข ซึ่งอาจเรียกว่า “จักรพรรดิราช” หรือ “ราชาธิราช” ก็ได้ ในความเป็นจริงแล้ว พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของมณฑลหรืออาณาจักรนั้น มักทรงเป็นผู้ทำทานบารมี หรืออำนาจทางพระคุณมากกว่าพระเดช และเป็นผู้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติจากการแต่งงาน (กินดอง) กับบรรดากษัตริย์ที่เป็นเจ้าแคว้นทั้งหลายในเครือข่ายของมณฑล ฉะนั้น การเข้ามาบูรณะหรือสร้างปราสาทเขาพระวิหารนั้น หาได้เป็นกิริยาของการแสดงอำนาจราชศักดิ์ในการปกครองของกัมพูชาเหนือที่ราบสูงโคราชไม่ โครงสร้างทางการเมืองและสังคมของแว่นแคว้นที่เป็นมณฑลเช่นนี้ คือสิ่งที่มหาอำนาจนักล่าดินแดนเจตนาที่จะไม่นำพา มิหนำซ้ำยังนำเอาโครงสร้างการเมืองการปกครองแบบจักรภพของยุโรปเข้ามามอมเมาและครอบงำเจ้านาย ขุนนาง ตลอดจนปัญญาชนไทย เขมร พม่า และอื่นๆ ให้หลงใหลในความทันสมัยทันโลก เท่ากับบิดเบือนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การเมืองการปกครองที่ผู้คนในภูมิภาคนี้สัมพันธ์กันอย่างไม่เคยมีเส้นแบ่งเขตแดน (border) และการเป็นชาติ (nation) แบบชาติไทย ชาติเขมร ชาติลาว ชาติพม่า ที่เกิดการขัดแย้งในทุกวันนี้ การเสียเขาพระวิหารอันเป็นของผู้คนในดินแดนเขมรสูง หรือที่ราบสูงโคราช ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็คือการรู้ไม่เท่าทัน จนกระทั่งหลงตกอยู่ในหลุมพรางของชาติมหาอำนาจนี้ แถมยังกลายเป็นระเบิดเวลาให้ไทยต้องทะเลาะกับกัมพูชาอย่างไม่สิ้นสุดอีกด้วย วันนี้เลยต้องฉวยโอกาสมาเสนอข้อคิดเห็นที่อาจเป็นประโยชน์แก่คนที่เป็นปัญญาชนได้ขบคิดและทบทวน ดังนี้

เบื้องแรก มหาอำนาจถ่อยๆ ชาตินั้นในเวลานั้น เข้ามาทำการศึกษาความเป็นมาทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้ ทั้งด้านโบราณคดี (archaeological past) และด้านชาติพันธุ์วรรณา (ethnographical present) มาก่อนการแสดงอำนาจเข้าครอบงำและยึดครองดินแดน ทางไทยต้องการหลีกเลี่ยงการยึดครองด้วยการพัฒนาความรู้และความเจริญแบบอารยประเทศตามแบบตะวันตกให้เป็นที่ยอมรับ บุคคลชั้นนำของประเทศจึงคล้อยตามความรู้ ความคิดเห็น และเทคนิควิชาการตามตะวันตกเพื่อความทันสมัย (westernized) เลยทำให้เกิดวิชาประวัติศาสตร์โบราณคดีแบบประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่มหาอำนาจชาตินั้นขุดหลุมดักไว้ ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีแบบประวัติศาสตร์ศิลปะนี่แหละ ที่ทำให้การสร้างประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของกัมพูชา (หรือเขมร) กับสยาม (หรือไทย) เป็นการปกครองแบบรัฐรวมศูนย์ (centralized state) ตามแบบจักรภพอังกฤษ

หลุมพรางทางความคิดและทฤษฎีเช่นนี้ร้ายนัก ตรงที่ทำให้ผู้นำทางปัญญาของไทยยอมรับว่า การที่มีศาสนสถานวัตถุแบบศิลปะลพบุรีหรือศิลปะขอมในประเทศไทย คือหลักฐานสำคัญที่แสดงว่ากัมพูชาสมัยเมืองพระนครเคยปกครองดินแดนสยามตั้งแต่ที่ราบสูงโคราช มายังที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและภาคกลางมาก่อน ซึ่งหมายความว่าบ้านเมืองไทยและคนไทยเคยเป็นขี้ข้าขอมมาก่อน เบื้องต่อมา หลังจากการยอมรับรู้ในเรื่องแนวคิดทฤษฎีต่างๆ แล้ว ก็มาถึงเรื่องเทคนิคที่มหาอำนาจชาตินั้นใช้เป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้ชาติประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต้องขัดแย้งกันอย่างสืบเนื่อง นั่นก็คือการกำหนดเส้นเขตแดนแบ่งเขต (border) อย่างเป็นรูปธรรม มีทั้งหลักเขต และการระบุเส้นรุ้ง เส้นแวงไว้ในแผนที่ ทำให้แผนที่กลายเป็นทั้งหลักฐานและเครื่องมือที่สำคัญเพื่อใช้ตกลง หรือยืนยันอ้างสิทธิ์ตามกฎหมายที่ฝรั่งเป็นผู้สร้างขึ้น เรื่องการกำหนดเขตแดนและทำแผนที่เช่นนี้ รัฐบาลไทยสมัย ร.๕ – ร.๖ ก็อยากจะเรียนรู้ให้เท่ากับพวกฝรั่ง เพราะมีการศึกษาอบรมสร้างผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางแผนที่ตามแบบฝรั่งกันอยู่ แต่ไม่ค่อยมีการออกไปปฏิบัติสร้างประสบการณ์และการริเริ่ม ผลที่ตามมาก็คือ อาจรู้เท่าฝรั่งได้ แต่ไม่ทัน เพราะในกรณีการกำหนดเขตแดนบนเทือกเขาพนมดงเร็ก โดยเฉพาะบริเวณเขาพระวิหารนั้น ฝรั่งที่เป็นเจ้าของประเทศกัมพูชาสมัยนั้นกำหนดให้ใช้สันปันน้ำ (watershed) เป็นเส้นแบ่งเขตแดนในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ โดยขอให้ทางไทยส่งผู้แทนและเจ้าหน้าที่ไปร่วมสำรวจแบ่งเขตแดน ซึ่งก็นับว่าเป็นธรรมดี เพราะการใช้สันปันน้ำอันเป็นธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ทางไทยเองกลับประมาทและหละหลวม ไม่ส่งผู้แทนและเจ้าหน้าที่ไปร่วมสำรวจ ทำแผนที่ ปล่อยให้ฝรั่งเจ้าของประเทศกัมพูชาดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว ฝรั่งถ่อยโคตรโกงจึงกำหนดเอาบริเวณปราสาทพระวิหารเข้าไปอยู่ในประเทศกัมพูชา ทั้งๆ ที่ขัดความเป็นจริงทางธรรมชาติของสันปันน้ำ เพราะบริเวณปราสาทพระวิหารตั้งแต่ลาดเชิงเขาจนถึงส่วนยอดที่เรียกว่าเป้ยตาดีนั้นล้วนอยู่ในเขตประเทศไทย ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองเอาน้ำราดลงบริเวณเป้ยตาดี แล้วดูว่าน้ำนั้นจะไหลลงที่ลุ่มต่ำประเทศเขมร หรือลงสู่ที่ราบสูงแอ่งโคราชของประเทศไทย เมื่อฝรั่งทำแผนที่เสร็จ ก็นำมาให้ทางฝ่ายไทยดูใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ทางไทยก็ไม่คัดค้าน มิหนำซ้ำยังเซ็นรับรองความถูกต้องของแผนที่ชุดนี้เสียอีกด้วย แผนที่คือหลักฐานเอกสารทางกฎหมายที่ใช้ในการตัดสินคดีความ เมื่อทางไทยเซ็นรับรอง ก็เท่ากับยอมรับว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาในการครอบครองของฝรั่งชาติดังกล่าวนั้นนั่นเอง แถมเมื่อมีการตัดสินคดีความในศาลโลก ทางฝรั่งยังได้อ้างภาพถ่ายครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปร่วมถ่ายภาพกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายของตนบนเขาพระวิหาร โดยที่มีธงชาติของตนปักอยู่เบื้องหลัง เท่ากับเป็นการยอมรับโดยดุษณีย์อยู่แล้ว แม้ว่าตอนนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงเป็นเพียงอดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไปแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภาอยู่ ซึ่งนับเป็นราชาในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตนั่นเอง เมื่อพูดถึงปราชญ์ในช่วงเวลาของคดีเขาพระวิหารในตอนนั้น ก็อยากจะขอเท้าความไปถึงความเห็นทางวิชาการของปราชญ์ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในครั้งนั้นว่า มีการแสดงความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างปราชญ์สากลและปราชญ์ท้องถิ่น ปราชญ์สากลของสกุลดำรงราชานุภาพยอมรับว่าปราสาทพระวิหารสร้างโดยพระมหากษัตริย์ขอมกัมพูชาตามที่ปรากฏในศิลาจารึก แต่บอกว่าเป็นของสร้างเพื่อผู้คนในดินแดนที่ราบสูงโคราช เพราะปราสาทเขาพระวิหารหันหน้าลงฝั่งไทยมากกว่าหันไปทางเมืองพระนครในประเทศกัมพูชา แต่ปราชญ์ธรรมดาที่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นบอกว่า ในตำนานพื้นเมือง กษัตริย์ของคนท้องถิ่นเป็นผู้สร้างขึ้น และมีเจ้าพ่อเขาพระวิหารเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแล แต่เผอิญตอนนั้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่เป็นที่รู้จักหรือยอมรับ อีกทั้งถูกประณามว่าเชยและไร้สาระ เลยไม่มีผู้สนใจ ในขณะที่การเน้นและสนใจประวัติศาสตร์สากลแบบที่ฝรั่งสอนให้จำและให้เชื่อนั้น เป็นสิ่งที่นำพาไปสู่ประวัติศาสตร์รัฐ ประวัติศาสตร์ชาติ เลยทำให้ความเป็นประวัติศาสตร์ที่แท้จริง คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมกลายเป็นภาพนิ่ง คือหลงเชื่อไปว่าดินแดนเขาพระวิหารและภาคกลางของไทยเป็นดินแดนที่ขอมเคยมาปกครองอยู่จริงๆ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ยังมีนักวิชาการชาตินิยมทางฝ่ายกัมพูชาอ้างบ่อยๆ จากการพบศิลปะขอมและจารึกขอม ว่าถ้าพบ ณ ที่ใด ก็ให้ถือว่าพื้นที่อันเป็นแหล่งที่มาของศิลปกรรมและจารึกนั้นเคยเป็นดินแดนของกัมพูชามาก่อน ถ้ามีปราชญ์แบบขอม go inter แบบนี้มากๆ และยังคงอยู่อีกนานละก็ ไม่ช้าคงมีคดีฟ้องกันในศาลโลกอีกว่า ดินแดนสยามซึ่งปัจจุบันเรียกว่าไทยแลนด์นั้น เคยเป็นของกษัตริย์วรมันแห่งกัมพูชาที่ย้อนหลังไปนับพันปี ส่วนผู้ที่เข้ามาทีหลังคือพวกโจรสยามที่ไม่มีสิทธิอันชอบธรรมแต่อย่างใด วิธีคิดแบบประวัติศาสตร์ชาติแบบรวมศูนย์และหยุดนิ่งเช่นนี้แหละ ที่กำลังพ่นพิษพ่นไฟอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้

Link : ปราสาทเขาพระวิหาร จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไม่มีความคิดเห็น: