วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552


ปรับพฤติกรรม แก้โรคปวดหลัง(ข่าวสด)
"อาการปวดหลังมากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากพฤติกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น การนั่งทำงาน การยืนในลักษณะที่ไม่ถูกต้องเป็นระยะเวลานาน โรคปวดหลังไม่สามารถหายขาดได้ ต้องดูแลร่างกายสม่ำเสมอ" ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ไคโรแพรคติกแพทย์ จากสมาคมการแพทย์ ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน "CHIROFIT" Helps People Get Back to Life งานเปิดบ้านหลังที่สอง "ไคโรฟิต ไคโรแพรคติก คลินิก แอท แบงค็อก เมดิเพล็กซ์ เอกมัย" ภายในงานเชิญผู้ผ่านประสบการณ์การรักษาจากไคโรฟิต ไคโรแพรคติก คลินิก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ได้แก่ พล ตัณฑเสถียร และอุ้ย-สุทัศนีย์ คุณผลิน ที่เป็นตัวแทนกลุ่มหนุ่มสาวทำงาน คล่องแคล่วว่องไว มักเกิดอาการปวดหลังปวดคอ จากอิริยาบถต่างๆ ที่ผิดที่ผิดทาง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษาอาการอาจมีความเสี่ยงที่จะก่อปัญหาเรื้อรังได้ อีก 2 คน ได้แก่ ปั๋ง-ประกาศิต โบสุวรรณ เกิดอาการปวดหลังจากการออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป กับ ตุ้ม-ณิชยา ชัยวิสุทธ์ สาวเวิร์กกิ้งวูแมนที่ติดรองเท้าส้นสูงเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดหลังเรื้อรัง ทั้งสองเป็นกลุ่มผู้ที่เกิดอาการค่อนข้างรุนแรง และเข้ารับการรักษาตามโปรแกรมที่ออกแบบเฉพาะบุคคล มาร่วมเล่าประสบการณ์จากการรักษาพร้อมคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในงานนี้จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านสุขภาพเรื่อง "การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ต้องผ่าตัด" จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการส่งเสริมการแพทย์ในเชิงป้องกัน รวมไปถึงการรณรงค์ให้ประชาชนรักษาสุขภาพในเชิงป้องกัน
พ.ญ.สุขจันทร์ พงษ์ประไพ รองนายกสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย และหัวหน้าแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวถึงปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการปวดหลังเรื้อรังและการรักษาว่า ในช่วงหนึ่งของชีวิตคนทุกคนมีโอกาสเกิดอาการปวดหลังได้ไม่มากก็น้อย จากสาเหตุต่างๆ รอบตัวที่เราอาจคาดไม่ถึงหรือมองข้ามไป มีรายงานการสำรวจในต่างประเทศว่า ร้อยละ 80 ของประชากร ประสบปัญหาการปวดหลัง โดยร้อยละ 70 มักจะหายจากอาการภายใน 3 สัปดาห์ ร้อยละ 80-90 มักจะหายภายใน 3 เดือน และมีผู้มีอาการปวดหลังประมาณร้อยละ 10-20 จะแปรเปลี่ยนไปเป็นภาวะ "การปวดหลังเรื้อรัง" สาเหตุของการปวดหลัง เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อต่อกระดูกสันหลัง และความผิดปกติของระบบประสาท ดังนั้น การรักษาอาการปวดหลังของสาเหตุดังกล่าวข้างต้น เมื่อวินิจฉัยได้แล้วก็รักษาอาการตามสาเหตุที่พบ แต่บ่อยครั้งผู้ที่มีอาการปวดหลังไม่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุได้ชัดเจน ต้องอาศัยการรักษาตามอาการ หลักการรักษา ได้แก่ การลดความเจ็บปวดโดยการใช้ยา การรักษาทางกายภาพบำบัด หรือทางเลือกอื่นๆ เช่น การฝังเข็ม การนวด และไคโรแพรคติก เป็นต้น จากนั้นต้องมีการรักษาแก้ไขความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ โดยลดความตึงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรงและทนทาน และเพิ่มความฟิตของร่างกาย นอกจากนี้ต้องมีการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลัง ทั้งการนอน นั่ง ยืน เดิน รวมถึงการทำงานและการเล่นกีฬาที่เหมาะสม สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัด มีเพียงประมาณร้อยละ 3-5 ที่เลือกใช้วิธีนี้ ซึ่งจะต้องมีข้อบ่งชี้และตรวจได้อย่างชัดเจนว่า กระดูกสันหลังไม่มั่นคง เป็นเนื้องอก หรือมะเร็งบางชนิด ช่องกระดูกสันหลังตีบอย่างรุนแรง มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงของขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน หรือการควบคุมระบบขับถ่ายผิดปกติ การปวดหลังเรื้อรังและการผ่าตัดทำให้ทุเลาปวดลงได้ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหลังนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม ตามที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์แนะนำ ร้อยละ 80 ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย และร้อยละ 20 ขึ้นอยู่กับผู้รักษา ด้าน ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ไคโรแพรคติกแพทย์ จากสมาคมการแพทย์ ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนว่า หมอนรองกระดูกเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ทำหน้าที่คล้ายถุงน้ำหุ้มกระดูกอ่อน ภาวะผิดปกติของหมอนรองกระดูกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม อุบัติเหตุ โรคติดเชื้อต่างๆ ไปจนถึงการทำงานผิดปกติ หรือการรับน้ำหนักที่มากเกินไป
ทั้งสองสาเหตุนี้ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สืบเนื่องมาจากอิริยาบถที่ผิดสุขลักษณะและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากการนั่ง ยืน ก้ม เงย เอียงตัวไปมา หรือแม้แต่การออกกำลังกาย เมื่อร่างกายของเราปราศจากการทำงานของหมอนรองกระดูกที่สมดุลแล้ว จะส่งผลเสียต่อการเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่างๆ ทั้งการรับแรงกระแทก และการถ่ายเทสารอาหารสู่ข้อต่อต่างๆ จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนในที่สุดหมอนรองกระดูกจะเสื่อมสภาพและเคลื่อนไปจากตำแหน่งปกติ เราเรียกภาวะเช่นนี้ว่า "โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน" "ภาวะหมอนรองกระดูกผิดปกติ" จะส่งผลต่อร่างกายในรูปแบบอื่นๆ อีกมาก เช่น การปวดหลังเฉียบพลัน การปวดลงขา เกิดอาการชาตามตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ การรักษาความผิดปกติเช่นนี้ทำได้โดยการจัดโครงสร้าง กินยา ทำกายภาพบำบัด และการผ่าตัด แต่การแพทย์ในปัจจุบันนี้คิดค้นเทคนิคใหม่ๆ โดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด คือใช้วิธีลดการกดทับของหมอนรองกระดูก หรือที่เรียกว่า Spinal Decompression Therapy (SDT) แทน วิธีนี้จะช่วยลดภาวะการรับน้ำหนักที่มากเกินไปของหมอนรองกระดูก และช่วยจัดเรียงแนวกระดูกสันหลัง และฟื้นฟูบริเวณหมอนรองกระดูกให้คืนสู่ภาวะสมดุลได้ ปิดท้ายที่ น.พ.อาลี เอส โมฮัมเมด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการปวดจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวถึง เทคโนโลยีการรักษาที่เรียกว่า Spinal Decompression Therapy (SDT) ว่า เป็นการรักษาแบบใหม่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับอาการปวดคอ ปวดหลังเรื้อรัง และอาการปวดร้าวลงขา การรักษาด้วยระบบนี้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ปราศจากความเสี่ยงจากการฉีดยา การใช้ยาสลบและการผ่าตัด เพราะออกแบบมาให้ลดแรงกดทับบนโครงสร้างที่อาจทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังบริเวณกระดูกสันหลังได้ บรรเทาอาการปวดที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกเสื่อม และอาการปวดร้าวลงขา เป็นเครื่องมือที่ช่วยปรับกระดูกสันหลัง ลดแรงกดทับที่หมอนรองกระดูก และเส้นประสาทไขสันหลัง ช่วยรักษาบริเวณหลังให้กลับสู่ภาวะสมดุลได้เองโดยธรรมชาติ SDT เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่สามารถตั้งโปรแกรมในการดึง ขณะเดียวกันยังทำตามความโค้งธรรมชาติของกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยส่วนมากพบว่าอาการปวดและอาการอื่นๆ บรรเทาลงและลดลงอย่างต่อเนื่องระหว่างการบำบัดรักษา

ไม่มีความคิดเห็น: